วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ลิฟต์ตก-ลิฟต์ค้าง ทำไง รู้วิธีรับมืออันตรายเมื่อติดอยู่ในลิฟต์

ลิฟต์ตก-ลิฟต์ค้าง ทำไง รู้วิธีรับมืออันตรายเมื่อติดอยู่ในลิฟต์




ติดลิฟต์ต้องทำตัวอย่างไรถึงจะปลอดภัย หากอยู่ ๆ เจอสถานการณ์ลิฟต์ค้าง หรือลิฟต์ตก คำแนะนำพร้อมวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นต่อไปนี้จะช่วยให้ชีวิตรอดได้

          เดี๋ยวนี้มองไปทางไหนในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ ๆ ก็จะพบอาคารสูง ๆ ตั้งเรียงรายเต็มไปหมด คนยุคนี้เลยต้องหันมาใช้ลิฟต์กันมากขึ้น และในบางครั้งก็อาจประสบเหตุอันตรายที่เกิดขึ้นจากลิฟต์ได้ ไม่ว่าจะเป็นลิฟต์ค้าง ประตูลิฟต์หนีบ หรือลิฟต์ตก แม้เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้อยู่เหมือนกัน ทาง นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จึงได้ให้คำแนะนำข้อควรทำหากเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น พร้อมวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่จะช่วยแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้

กรณีเกิดลิฟต์ค้าง

สิ่งที่ต้องทำเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินมีดังนี้

           ตั้งสติ และอย่าพยายามงัดประตูลิฟต์โดยพลการเด็ดขาด

           หากลิฟต์ค้างมักไม่ค่อยมีอันตราย เนื่องจากลิฟต์มีพัดลมที่สามารถระบายอากาศได้เพียงพอ

           แต่หากไฟฟ้าดับและพัดลมระบายอากาศหยุดทำงาน คนที่ติดอยู่ในลิฟต์ส่วนใหญ่ มักจะประสบกับภาวะการคั่งของคาร์บอนไดออกไซต์ คือจะมีอาการมึนงง สับสน ปากเริ่มมีสีคล้ำ ให้รีบคลายเสื้อของผู้ป่วยให้หลวม ไม่ควรจับนอนหรือนั่ง แต่ควรประคองให้ยืนไว้ เนื่องจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หนักกว่าอากาศ บริเวณพื้นจึงมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก

           เมื่อนำผู้ป่วยออกมาได้แล้ว ให้รีบพาไปอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก อย่ามุง หรือหากมีออกซิเจนให้รีบให้ในทันที

           โทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ แต่หากหัวใจหยุดเต้นควรรีบช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) โดยเร็ว

          นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ คือ ความเครียดจากการกลัวที่แคบ (Agoraphobia) ทำให้หายใจเร็ว ซึ่งจะทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดถูกขับออกมากับลมหายใจมาก ส่งผลให้เลือดมีความเป็นกรดลดลงจึงเกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อคล้ายตะคริวหรือที่เรียกว่าอาการมือจีบ

          วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือให้นำถุงพลาสติก หรือถุงกระดาษ เจาะรูเล็ก ๆ มาครอบปากและจมูก ให้ผู้ป่วยหายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์ที่หายใจออกมามากให้ย้อนกลับเข้าไป โดยต้องเปิดให้หายใจในอากาศปกติเป็นระยะ และที่สำคัญคือต้องทำให้ผู้ป่วยผ่อนคลายด้วย แต่อย่างไรก็ตามหากมีอาการบ่อย ๆ ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อรักษาจากสาเหตุที่แท้จริง

ภาพจาก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ  




กรณีเกิดลิฟต์ตก

          สำหรับเหตุการณ์นี้ สมาคมลิฟต์แห่งประเทศไทยระบุว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก เนื่องจากลิฟต์รุ่นใหม่ ๆ จะมีระบบล็อก แต่หากเกิดขึ้นให้ผู้ประสบเหตุทำดังนี้

            กดปุ่มให้ลิฟต์จอดทุกชั้น เพราะเมื่อไฟฟ้าสำรองทำงานจะหยุดลิฟต์จากการร่วงลงมา

           หาที่จับให้แน่น พิงหลังและศีรษะเข้ากับผนังให้เป็นเส้นตรง เพื่อช่วยป้องกันหลังและกระดูก และควรงอเข่า

สิ่งสำคัญคือควรปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันอันตราย เช่น

           ไม่ขึ้นลิฟต์เกินจำนวนคนที่ระบุไว้

           อย่าพิงประตูลิฟต์ขณะยืนรอ เพราะประตูลิฟต์ไม่ได้แข็งแรงและไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรับน้ำหนักคน การพิงอาจทำให้ประตูพังได้ หรือประตูลิฟต์อาจหนีบคนได้หากระบบเซ็นเซอร์เสีย

           หากเกิดไฟไหม้ ห้ามใช้ลิฟต์เด็ดขาด เพราะอาจสำลักควันในปล่องลิฟต์ หรือลิฟต์ไปเปิดในชั้นที่ไฟกำลังไหม้ทำให้คนในลิฟต์เสียชีวิตทันทีได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น